อันที่จริงผม (อัครา นักทำนา : ภัณฑารักษ์) เคยได้ยินชื่อ Pink, Black & Blue มาก่อน คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นชื่องานเก่าของพี่มานิตเอง งานนั้นมีชื่อว่า Pink White Blue ที่มีภาพของเด็กในชุดนักเรียนที่กำลังถูกคูณครูพิงค์แมนถ่ายทอดความรู้ (หรือครอบงำ) อะไรบางอย่าง มีความหมายโดยตีความว่า สีแดงที่เป็นสีของรัฐถูกแทนที่ด้วยสีชมพู (ที่กล่าวได้ว่าคือ พิงค์แมน นั่นเอง) สีขาวคือสีของเด็กที่บริสุทธิ์ทั้งด้านความคิดและเสรีภาพ ขนาบข้างด้วยน้ำเงินคือสีที่เป็นตัวแทนของสถาบันอย่างที่เราทราบๆกัน นั่นเลยทำให้ผมรู้สึกถึงเรื่องของ “สี” ที่มีอยู่คู่กับงานภาพถ่ายของพี่มานิตมาตลอด
นิทรรศการครั้งนี้พี่มานิตนำสีต่างๆกลับมาขยายความและถ่ายทอดในความหมายที่ต่างออกไป, Pink: ก็มาถึงบทสรุปของชีวิตพิงค์แมน, Black: (When I Was Twenty) ฉายภาพกลับไปเมื่อเริ่มต้นทำงานภาพถ่าย และ Blue: (I Saw A Blue Wing) กระโดดข้ามมาถึงโลกปัจจุบันที่ราวกับวิญญาณของพิงค์แมนกำลังท่องเที่ยวโลกหลังความตายอย่างสนุกสนานผ่านเลนส์กล้องของพี่มานิตเองในรูปแบบของงาน Street Photography
ทั้งสามงานหมุนวนเชื่อมต่อกัน บรรยายความเป็นมาเป็นไปโดยมีความตายของพิงค์แมนเป็นสะพานส่งต่อความคิด-ปรากฏการณ์ให้แผ่กระจายไปรอบๆศิลปินและผู้ชม
PINK
พิงค์แมน, ชายผู้สำรวจเรื่องสามัญ-พิศดารในสังคมแบบไทยไทย และสังคมโลก,
ถึงวาระสุดท้ายของเขา?
ภาพข่าวเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อันแสนสยดสยองที่มี พิงค์แมนยืนยิ้มเยาะอยู่ข้างๆเป็นเหมือนภาพจำแรกๆที่มีต่องานพิงค์แมน ราวกับ (เขาคนนั้น) ผู้ที่อยู่เบื้องหลังกำลังสวมใส่ชุดสีชมพูสดใส ถอดกายทิพย์ท่องทะยานผ่านเหตุการณ์ต่างๆในวันนั้นร่วมเป็นประจักต์พยานของความน่าสะอิดสะเอียนที่ส่งออกมาจากผู้มีอำนาจที่ต้องการกำจัดและขจัดผู้คนฝ่ายตรงข้ามไม่ต่างจากหมากฝรั่งที่ติดอยู่ใต้พื้นรองเท้า ภาพนั้นมันส่งผลสะเทือนไม่เฉพาะแค่ผู้พบเห็นทั่วไป แต่ได้แสดงตัวอย่าง-วิธีการที่สำคัญ, ผลักดันการทำงานศิลปะภาพถ่ายร่วมสมัยของไทยให้ก้าวพ้นไปจากขนบจารีตเดิมๆที่ต้องพินอบพิเทาต่อกรอบสมมติที่คนเก่าก่อนก่อร่างไว้
พิงค์แมนเดินทางเยือนสถานที่และเรื่องราวต่างๆมาตลอดระยะเวลาเกือบสามทศวรรษที่อาจเท่าๆกับช่วงชีวิตของคนๆหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและสะท้อนความเป็นไปหลากหลายเรื่องราว ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า พิงค์แมน คือตัวแทนอันแสนจะนามธรรมของสิ่งที่อยู่เบื้องหลังหลายๆปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมโลก เขาถูกผลิตขึ้นมาให้มองเห็นจับต้องได้ มีชีวิตราวกับคนจริงๆ เติบโต ยิ่งใหญ่ แก่ชรา และท้ายที่สุดก็จบชีวิต บรรจุอยู่ภายในถุงใส่ศพสีชมพูชอคกิ้งพิงก์สีโปรดของเขาข้างถนนกลางกรุงนิวยอร์ก
คำถามคือ ความตายของพิงค์แมน ที่ดูเหมือนเขาจะไม่มีวันตายครั้งนี้บอกอะไรกับพวกเรา, กับสังคม, กับโลก, หรือกระทั่งพิงค์แมนอาจกำลังหลุดพ้นไปเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหม่หรืออย่างไร? คำตอบเหล่านี้อาจกำลังลอยละล่องในอากาศที่พวกเรากำลังสูดดมเข้าไปพร้อมฝุ่น PM 2.5 หรือลอยตลบอบอวลอยู่ในควันไฟสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่แสนเหลือเชื่อว่ากำลังเกิดขึ้นในยุคของพวกเรา
BLACK
การก่อกำเนิด, พิงค์แมนในบึงน้ำสีดำ
การทดลองที่หลากหลายราวกับประตูที่กำลังเปิดออกทุกบาน เป็นเครื่องมือชั้นดีรองรับความคิดที่พุ่งทะยานไปพร้อมๆกับความกล้าบ้าบิ่นในวัยหนุ่มสาว วัยที่ทุกๆอย่างเป็นไปได้ด้วยพลังแห่งฮอร์โมนและความคิดสุดโต่ง When I Was Twenty เป็นหนึ่งในหลักฐานอันเด่นชัดที่ราวกับว่าได้มาสบตากับพิงค์แมนที่กำลังซุกตัวหลบซ่อนเสื้อสูทสีชมพูและรถเข็นช็อปปิ้งไว้หลังบรรดาภาพถ่ายขาวดำดิบดาร์คนี้อย่างแนบเนียน
When I Was Twenty เต็มไปด้วยเรื่องลับส่วนตัวอันแสนมืดหม่นปะปนไปด้วย แมกไม้น่าขนลุก บึงน้ำ ผู้ชาย ความตาย เด็กทารก ทีวี ราวกับพวกมันสื่อสารถึงกันด้วยสัญญะลึกลับและแรงกดดันบางอย่างที่อัดแน่นไปด้วยความคิดอันแหลมคม ความเชื่อ อุดมการณ์ที่ใกล้จะถูกปลดปล่อยในกาลข้างหน้า, บ่มเพาะ รอเวลา..
เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 เป็นเชื้อปะทุปลุกให้พิงค์แมนตื่นขึ้นและแหวกว่ายขึ้นมาจากบึงน้ำดำมืดด้วยชุดสูทสีชมพูชอคกิ้งพิงค์และรถเข็นตัวโปรดของเขา ยืนยิ้มเย้ยหยันให้กับความพังพินาศที่กำลังเกิดขึ้นและป่าวประกาศถึงการมาถึงของยุคชายร่างท้วมสูทสีชมพูบนกองซากปรักหักพังจากความละโมบโลภมาก
BLUE
กายทิพย์สีฟ้าของพิงค์แมนในโลกยุคโลกาภิวัฒน์
ความวุ่นวายต่างคนต่างคิดในโลกยุคใหม่ ความรวดเร็วของการสื่อสาร ความรู้ไร้ขีดจำกัด ผู้คนในโลกพหุ/อนุวัฒนธรรม การเลื่อนไหลของเพศสภาพ ความฉลาดล้ำของ AI ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หลอมรวมอยู่ด้วยกันอย่างสุดโกลาหล ไม่รู้ว่าเรื่องพวกนี้สร้างความปวดหัวให้กับพิงค์แมนบ้างหรือเปล่า แต่งานชุด I Saw A Blue Wing เป็นดังกายทิพย์สีฟ้าของมิสเตอร์พิงค์แมนที่เฝ้ามองโลกยุคใหม่ผ่านกล้องตัวเล็กของพี่มานิต, ท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของ Covid-19 และน่าจะเป็นคาบเวลาเดียวกันกับการจากไปของพิงค์แมนอย่างน่าประหลาดใจ
ฉากทัศน์ของเมืองใหญ่กับผู้คนชายขอบ ผู้คนแต่งตัวราวกับงานแฟนซี งานเลี้ยงไฮโซ วัฒนธรรมเก่าที่ถูกรื้อออกมาทำปลอมให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ถูกหยิบออกมาแสดงอย่างน่าสนใจที่ไม่ต่างจากงานชุดที่พิงค์แมนออนทัวร์ไปยังที่ต่างๆบนโลก ซึ่งแทนที่เราจะเห็นพิงค์แมนในฉากภาพ กลับเป็นการมองออกมาจากดวงตาของเขา, เรา (ผู้ชม) ต่างกำลังนั่งอ้าปากค้างอยู่ข้างหลังดวงตาของพิงค์แมนเหมือนกับหนังเรื่อง Being John Malkovich สอดส่องดูความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของสังคมโลกที่ไม่มีทางไล่ทัน
พวกเราเองก็น่าจะผสานและกลายร่างเป็นพิงค์แมนในท้ายที่สุด
----
Pink, Black & Blue
นิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยว โดย มานิต ศรีวานิชภูมิ
ภัณฑารักษ์ : อัครา นักทำนา
11 กุมภาพันธ์ – 9 เมษายน 2566
HOP PHOTO GALLERY
ชั้น 3 โซน MUNx2 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์
งานเปิดนิทรรศการ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566
เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป